เจ้าสัวเฉลียว วิทยา
เป็นมหาเศรษฐีที่สร้างตัวขึ้นมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน พ่อ-แม่ ไม่มีเงินทุนสนับสนุนเพื่อก่อตั้งธุรกิจแต่อย่างใด หากแต่ขึ้นมายืนเป็นมหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของประเทศไทย เพราะความสามารถอย่างแท้จริง จ้าสัวเฉลียว ได้มีโอกาสเรียนหนังสือในระบบเพียงแค่ชั้น ม.4 พอขึ้นชั้นม.5 ก็หยุดเพราะไม่มีเงินเรียน ต้องเลี้ยงเป็ด...แต่ความคิดความใฝ่ฝัน การทำงานไม่ได้ย่อท้อต่อโชคชะตา เขาหาโอกาสและสร้างโอกาสให้กับชีวิตเขาอยู่ตลอดเวลา
จนกระทั่งสามารถสร้างสินค้าของตัวเอง เป็นเครื่องดื่มชูกำลังชื่อ กระทิงแดง มีผู้นิยมดื่มกันทั้งประเทศ นอกจากนั้นยังรุกตลาดนำ กระทิงแดง เรดบลู
ออกขายที่ต่างประเทศ ได้รับความนิยมทั่วโลก...เขาจึงกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทย
เฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของบริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง กระทิงแดง ปัจจุบันมีบุตร 11 คน โดยในปี พ.ศ. 2551 ได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ให้เป็นเศรษฐีอันดับ 260 ของโลก และอันดับ 1 ของไทย (รองลงมาคือนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจเบียร์ช้าง) ซึ่งมูลค่าสินทรัพย์ของนายเฉลียวมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ โดยรวมมูลค่าของหุ้นส่วน อุตสาหกรรมยา (T.C. Pharmaceuticals) และหุ้นส่วนโรงพยาบาล
"เฉลียว อยู่วิทยา” มีชื่อจีนว่า "โกเหลียว" มีเชื้อสายจีนไหหลำ ปู่มาจากเมืองจีน ย่าเป็นคนไทย เป็นคนจังหวัดพิจิตรโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวยากจน มีอาชีพเลี้ยงเป็ด และค้าขายผลไม้ จากนั้นเข้ามาในกรุงเทพฯ ช่วยพี่ชายทำงานร้านขายยา เป็นเซลส์แมนขายยา "ออริโอมัยซิน" ของบริษัทเอฟ.อี.ซิลลิคฯ จากนั้นได้ลาออกมาเป็นตัวแทนนำเข้ายามาจำหน่ายเอง และต่อมาตั้งโรงงานผสมยาอยู่หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ ราชดำเนิน จากนั้นตั้งบริษัท ทีซีมัยซิน ในช่วงแรก ผลิตแป้ง"แทตทู" ยาเด็ก "เบบี้ดอล" ก่อนจะมาถึงเครื่องดื่ม"กระทิงแดง" ด้วยการทำตลาดแบบถึงลูกถึงคน ทำให้กระทิงแดงตีตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ของตลาด
สมรสกับ นาง นกเล็ก สดสี มีบุตร ด้วยกัน 5 คน ต่อมาสมรสใหม่กับ นาง ภาวนา หลั่งธารา ก่อนจะร่วมกันบุกเบิก เครื่องชูกำลัง กระทิงแดง มีบุตร ด้วยกัน 6 คน ได้แก่ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา, จิราวัฒน์ อยู่วิทยา, ปนัดดา อยู่วิทยา, สุปรียา อยู่วิทยา, สราวุฒิ อยู่วิทยา และ นุชรี อยู่วิทยา
ในปี พ.ศ. 2527 นายเฉลียวได้ขยายธุรกิจกระทิงแดงไปต่างประเทศ โดยลงทุนร่วมกับนาย ดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz) นักธุรกิจชาวออสเตรีย ก่อตั้งบริษัท Red Bull GmbH. ในประเทศออสเตรีย โดยนายเฉลียวถือหุ้น 49 % และนายเฉลิม ลูกชายถือหุ้นอีก 2 % ผลิตและวางจำหน่ายกระทิงแดงในยุโรป ภายใต้ยี่ห้อ เรดบูล และส่งไปขายในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
เฉลียว อยู่วิทยา บุรุษผู้ซ่อนกาย
คอลัมน์ ถนนสายนี้ไม่มีทางลัด
โดย สาโรจน์ มณีรัตน์
นสพ. มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 3 ธ.ค. 2549
เชื่อว่าหลายคนคงได้ยิน และรู้จักเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อกระทิงแดงเป็นอย่างดี เพราะกระทิงแดง ไม่เพียงเป็นแบรนด์ดังแค่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น หากในต่างประเทศ แบรนด์ "เรดบูล" หรือ "Red Bull" ในชื่อภาษาอังกฤษ ก็เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะแถบประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ทั้งนั้นเพราะ "Red Bull" เป็นผู้สนับสนุนกีฬาหลักๆ อย่างการแข่งขันรถยนต์ฟอร์มูล่า-1 การแข่งขันเอ็กซ์-ตรีม และการเข้าไปร่วมจัดกิจกรรมคนกล้า ท้ามฤตยูในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่ขณะเดียวกัน ชื่อของ "เฉลียว อยู่วิทยา" ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด อาจถูกรับรู้อยู่ในวงแคบ เพราะตลอดชีวิตผ่านมา น้อยครั้งมากที่เขาจะปรากฏตัวต่อสาธารณะ น้อยครั้งมากที่จะให้สัมภาษณ์ และน้อยครั้งมาก ที่จะแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีต่างๆ ทั้งนั้นเพราะเขาเลือกที่จะทำงาน มากกว่าพูด เลือกที่จะปฏิบัติ มากกว่าคิด เพราะการคิด หากไม่ลงมือปฏิบัติ ก็เท่ากับเป็นความฝันแบบลมๆ แล้ง เหตุนี้เอง ตลอดชีวิตผ่านมากว่า 80 ปี "เฉลียว" จึงเลือกที่จะทำงาน มากกว่านั่งฝัน
แม้กระทั่งปัจจุบันก็ตาม ! ซึ่งเรื่องนี้ "สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา" ลูกสาวคนโต ปัจจุบันนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด เคยให้สัมภาษณ์คอลัมน์เปิดอก ในนิตยสารดิฉันว่า…
"ทุกวันนี้ ป๋าจะขี่จักรยานตอนเช้า ใส่เสื้อตัวเดียว นุ่งกางเกงแพร ใส่หมวกงอบ แล้วขี่จักรยานวนไปรอบๆ โรงงาน เจออะไรไม่เรียบร้อย ก็จะแวะเข้าไปดู"
"จนมีเรื่องตลกเล่าว่า ครั้งหนึ่งมียามหน้าใหม่ไม่รู้จักเฉลียว อยู่วิทยา เมื่อเขาเห็นลุงแก่ๆ ขี่จักรยานเข้ามาในโรงงาน ซึ่งเป็นเขตที่คนนอกห้ามเข้า เขาจึงตะโกนห้ามว่า…ลุง…ลุง…ห้ามเข้า เผอิญยามอีก 2 คน ซึ่งเป็นยามเก่าเห็นพอดี จึงเดินมาสะกิด และบอกยามหนุ่มว่านี่คือผู้จัดการโรงงาน งานนั้นก็เลยเล่นเอายามหนุ่มถึงกับหน้าถอดสี"
นอกจากเรื่องดังกล่าว "สุทธิรัตน์" ยังเล่าถึง "ป๋า" หรือ "เฉลียว" ตอนที่บุกเบิกธุรกิจในนิตยสารเล่มเดียวกันว่า…
"ป๋าคือผู้บุกเบิก และก่อตั้งบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง และจากบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานไม่ถึง 10 คน จนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานเป็นพันคน และจากเครื่องดื่มที่ป๋าต้องเอาไปเทสต์ตลาด โดยการเปิดให้คนขับรถสิบล้อชิมฟรี"
"จนกลายเป็นเครื่องดื่มเรดบูล ที่จำหน่ายในประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา แอฟริกา และเอเชีย มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย แต่ที่เป็นเช่นนั้น เพราะป๋าทำงานหนักมาตลอด"
เป็นการทำงานหนักตั้งแต่เด็กๆ เพราะหลังจากที่ "เฉลียว" จบชั้นประถม 4 เขาทำงานทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นขึ้นล่องส่งผลไม้จากเหนือลงใต้ หรือขาไปนำทุเรียนลงเรือแจวเต็มลำ แต่ขากลับนำส้มโอลงมาขาย เขาก็ทำมาแล้ว !
กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และขณะนั้นเมืองไทยกำลังขาดแคลนเครื่องยาเวชภัณฑ์ เขาจึงเกิดไอเดียว่า ถ้าสั่งยาจากต่างประเทศเข้ามาขายในเมืองไทย เห็นทีต้องขายได้แน่ๆ โดยเฉพาะยาประเภทแก้ปวดหัว ตัวร้อน และยาแก้ไข้เด็ก ซึ่งก็เป็นจริง แล้วหลังจากนั้น เขาก็เกิดความคิดที่อยากจะตั้งโรงงานผลิตยาเสียเอง ซึ่งมียาแก้ไข ที.ซี.มัยซิน,ยาน้ำเบบี้ดอล,ยาเม็ดลาย และอื่นๆ อีกมาก
กล่าวกันว่า ธุรกิจยาทำให้ "เฉลียว" มีเงินเข้ากระเป๋าอยู่พอสมควร จนทำให้เขาเริ่มมองไปที่ธุรกิจอื่นๆ บ้าง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะขณะนั้นเครื่องดื่มชูกำลังอย่างลิโพวิตันดี ของประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างจะเป็นผู้นำตลาด จนทิ้ง "ป๊อปปิ้นดี" ซึ่งเป็นแบรนด์ของไทย
"เฉลียว"เกิดความคิดว่า เมื่อช่องว่างทางการตลาดห่างชั้นกันอย่างไม่เห็นฝุ่น เขาก็น่าที่จะสร้างแบรนด์ใหม่เข้ามาแทรกตลาดได้
ที่สุดจึงลอนซ์โปรดัคต์ "กระทิงแดง" ออกสู่ตลาดเมื่อหลายสิบปีผ่านมา บนเนื้อที่ไม่กี่ไร่ บริเวณถนนเอกชัย และเริ่มต้นจากพนักงานไม่ถึง 10 คน
ที่สำคัญ โลโก้กระทิงแดง "เฉลียว" เป็นคนออกแบบเองด้วย เพราะเห็นว่ากระทิงเป็นสัญลักษณ์ของพลัง ดังนั้น ถ้าใครดื่มเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อ "กระทิงแดง" คนคนนั้นก็จะมีพลังทำงานอย่างมหาศาล ซึ่งเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี แต่แล้วจู่ๆ "พล.ต.สุตสาย หัสดิน ณ อยุธยา" ผู้นำกลุ่มการเมืองกระทิงแดงสมัย 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519 ก็ออกมาประกาศว่า "เฉลียว" มีนัยยะอะไรซ่อนเร้นหรือเปล่า
เพราะชื่อเครื่องดื่มชูกำลังไปพ้องกับชื่อกลุ่มการเมือง ผลเช่นนี้เอง จึงทำให้ "เฉลียว" ต้องนำเอกสารจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากกระทรวงพาณิชย์ออกมายืนยันว่าเครื่องหมายการค้ายี่ห้อกระทิงแดง จดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2516 ที่สุดทุกอย่างจึงจบลงด้วยดี !
แล้วจากนั้น "กระทิงแดง" ก็โลดแล่นไปตามเกมธุรกิจ ที่ไม่เพียงจะทำให้ยอดขายทวีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากในปี 2531 "เฉลียว" ยังได้ร่วมทุนกับ "มร.ดีทริช มาเดอชิทช์" ด้วยการนำ "Red Bull" ออกสู่ตลาดโลก
ซึ่งเรื่องนี้ "สุทธิรัตน์" ให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับเดียวกันว่า…
"ตอนแรกที่เรดบูลเข้าไปในตลาดยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่หินที่สุด เพราะคนยุโรปไม่คุ้นเคยกับคำว่า energy drink ดังนั้น เมื่อกระทิงแดงคือสินค้าตัวแรกที่คนยุโรปรู้จัก เขาจึงรู้สึกงงๆ อยู่บ้าง ยิ่งเมื่อเขาเห็นคำว่า Produce of Thailand เขาก็ยิ่งงงเข้าไปอีก"
"อีกอย่างกระทิงแดงที่ขายในยุโรป และอเมริกามีรูปร่าง และรูปแบบแตกต่างไปจากที่ขายในเมืองไทย เพราะเมืองไทยจะคุ้นเคยกับเครื่องดื่มที่บรรจุในขวดทรงเหลี่ยมสีน้ำตาล แต่ในตลาดยุโรป และอเมริกา บรรจุภัณฑ์จะเป็นกระป๋องสีฟ้า ส่วนแถบเอเชียจะเป็นกระป๋องสีทอง กับสีแดง แต่ใช้ยี่ห้อเดียวกันคือเรดบูลทั้งหมด
นอกจากมุมมองในเรื่องธุรกิจ "สุทธิรัตน์" ยังให้สัมภาษณ์พูดถึง "ป๋า" ของเธออีกว่า…
"ทั้งเนื้อทั้วตัวของป๋า ไม่มีเครื่องประดับอื่นเลย นอกจากนาฬิกาเรือนเดียวยี่ห้อราโด้ เสื้อผ้าก็ไม่ยอมซื้อ ไม่พกเงิน ป๋าชอบใช้ชีวิตเรียบง่ายๆ สมถะ แต่สิ่งที่ป๋าสอนลูกๆแบบไม่สอนเลยคือป๋าจะทำงานตลอดเวลา คือทำให้ลูกๆ เห็น"
"ซึ่งดิฉัน ก็เชื่อว่าลูกๆ ก็ได้รับอิทธิพลจากป๋ามาบ้าง และครั้งหนึ่ง มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเสนอชื่อที่จะมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้แก่ป๋า แต่ป๋ากลับปฏิเสธ และบอกเขาไปว่า ผมว่าไม่เป็นการยุติธรรมเลย เพราะผมไม่ได้เรียนมา จะไปเอาเปรียบกับคนที่เรียนมาได้อย่างไร"
นั่นเป็นตัวตนของ "เฉลียว" อย่างหนึ่ง ที่คนใกล้ชิดรู้จักเป็นอย่างดี ดังนั้น ไม่ว่าวันนี้ และวันหน้า ที่ชายปัจฉิมวัยจะมีอายุ 80 กว่าปีแล้วก็ตาม แต่ก็เชื่อได้ว่า "เฉลียว" คือบุคคลหนึ่ง ที่เขียนประวัติศาสตร์ธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก ทั้งๆ ที่เขาจบเพียงชั้นประถม 4 เท่านั้นเอง แต่สามารถสร้างตัว จนกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 292 ของโลก และมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บส์ ในปี 2548 เป็น 2548 ที่เชื่อมโยงไปถึงปี 2549 ก็เชื่อได้ว่า "เฉลียว" คงมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีกมากมาย มากมายจนใครก็คาดไม่ถึงว่า ทำไมเขาถึงเป็นบุรุษผู้ซ่อนกายมาจนวันนี้ จนวันที่แทบไม่มีใครเคยเห็นร่างเงาของเขาเลย ?